ผ้าไหมของฝากจากอุบล

19 มิ.ย. 2561      1404 views

แชร์ทั้งหมด 1 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

 "ผ้ากาบบัว” ได้มีการประกาศให้ เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2543 โดยคณะทำงานพิจารณาลายผ้าพื้นเมือง ตามโครงการสืบสานผ้าไทย สายใยเมืองอุบลฯ

ได้ร่วมพิจารณาศึกษาประวัติความเป็นมาของลายผ้าในอดีต ที่ทรงคุณค่ามาปรับปรุง ออกแบบสร้างสรรค์ลายผ้า เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้คัดเลือกให้ชื่อว่า "ผ้ากาบบัว"

เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีคุณลักษณะดังนี้

สีผ้ากาบบัว เป็นสีของกาบบัว หรือกลีบบัว ซึ่งไล่จาก สีอ่อนไปแก่ จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล ซึ่งผ้ากาบบัวมีความหมายและเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืน ย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ "ซิ่นทิว" นอกจากนี้ ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด
จากบทนิยาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 1547(พ.ศ. 2552) ได้ให้ความหมายกำหนดลักษณะเฉพาะของผ้ากาบบัว เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้ากาบบัว (ธรรมดา) ผ้ากาบบัว (จก) และผ้ากาบบัว (คำ)
 ผ้ากาบบัว (ธรรมดา)
 หมายถึงผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตามลักษณะซิ่นทิว และใช้เส้นด้ายพุ่งทอเป็นลาย คั่นด้วยหางกระรอก(ควบเส้น) มัดหมี่ และขิด
ผ้ากาบบัว (จก) หมายถึงผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตามลักษณะซิ่นทิว และเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษ โดยการจกเป็นลวดลาย กระจุกดาว หรือเกาะลายดาว ซึ่งอาจมีเป็นช่วงกลุ่มหรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า
ผ้ากาบบัว (คำ) หมายถึงผ้าทอที่มีหรือไม่มีลายริ้วก็ได้ เป็นผ้ายกหรือผ้าขิดที่ใช้เส้นด้ายพุ่งเพิ่มพิเศษ คือดิ้นทอง อาจสอดแทรกด้วยดิ้นเงินหรือไหม สีต่างๆไปตามลวดลายบนลายพื้น และคั่นด้วยมัดหมี่