พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์และศาลประคำ

4 มี.ค 2561      530 views

แชร์ทั้งหมด 0 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2517 จากความคิดริเริ่มของนายสุธี โอบอ้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ขณะนั้น โดยการชักชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ให้นำศิลปวัตถุและโบราณวัตถุมาบริจาค ซึ่งได้จัดแสดงไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ต่อมาภายหลังจึงได้ย้ายไปเก็บรักษาและจัดแสดงชั่วคราว ณ อาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้รับมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากประชาชน และจากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทำให้สถานที่จัดแสดงซึ่งอาศัยใช้พื้นที่ปีกด้านล่างของอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์คับแคบ ไม่เหมาะสมต่อการให้บริการ ประกอบกับในปี พ.ศ.2535 กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะปรับปรุงและจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ จึงเป็นพิพิธภัณฑสถานอันดับต้นๆ ที่ได้รับการพิจารณาจัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายดังกล่าว กรมศิลปากรได้ดำเนินการขอใช้ที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ บริเวณ กม.ที่ 4 ริมถนน สุรินทร์ – ช่องจอม เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ แห่งใหม่ และได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงสถานที่พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา อาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ รูปทรงทันสมัย โดยประยุกต์มาจาก “ปราสาท” สถาปัตยกรรมในศิลปะเขมร มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารที่เชื่อมต่อถึงกัน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นโถงทางเข้าและทางเดิน ส่วนที่ 2 เป็นส่วนบริการการศึกษาและสำนักงาน ส่วนที่ 3 เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร และส่วนที่ 4 เป็นคลังพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างนิทรรศการที่น่าสนใจคือ ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ เนื้อหาในส่วนนี้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ โดยเริ่มจากกลุ่มชาวกูยซึ่งได้ช่วยจับช้างเผือกที่แตกโรงหนีมา ส่งกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา ทำให้ได้รับพระราชทานความดีความชอบตั้งชุมชนชาวกูยเหล่านี้ขึ้นเป็นบ้านเมือง จนถึงระยะเวลาที่มีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นระบบเทศาภิบาลและระบอบประชาธิปไตยตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษา ในการจัดแสดง มีฉากไดโอรามาจำลองภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ เช่น การจับช้างเผือก การเดินรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ สภาพตลาดการค้าในยุคแรกๆ สภาพการเรียนการสอนในอดีต ฯลฯ ไว้ให้ศึกษา จุดเด่นที่สุดในส่วนนี้น่าจะได้แก่หุ่นจำลองสำริดรูปพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก

แหล่งที่มา :