ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองลับแล

23 ก.ค. 2561      4703 views

แชร์ทั้งหมด 1 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

     เมืองลับแลหรืออำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองที่เมื่อกล่าวถึงแล้วผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงนิยายปรัมปราพื้นบ้านว่าเป็นเมืองแห่งแม่ม่าย  แท้จริงแล้วถ้าใครได้ไปพูดคุยกับคนลับแลจะรู้ว่าที่ว่าเป็นเมืองแม่ม่ายนั้น เพราะว่าตอนกลางวันไม่ค่อยมีผู้ชายอยู่บ้าน จะมีก็แต่ผู้หญิง เพราะผู้ชายเข้าไปทำไร่ทำสวนตั้งแต่เช้ามืด  กลับมาอีกทีก็ค่ำมืดแล้ว พอดีแขกที่ไปเที่ยวกลับบ้านพอดีจึงเข้าใจว่ามีแต่แม่ม่าย  ประกอบกับเมืองลับแลเป็นเมืองที่มีความร่มรื่นมีภูเขาและต้นไม้เยอะ  จึงดูเหมือนเป็นเมืองที่ผู้คนยากจะไปถึง  แต่ทุกวันนี้การเดินทางไปเมืองลับแลมีความสะดวกสบายมากขึ้น  ทำให้เมืองลับแลในปัจจุบันนี้เปิดตัวเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  เมืองลับแลถือว่าเป็นเมืองทางประวัติศาสตร์และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์
     “เมืองลับแล” เป็นเมืองที่สงบเงียบ อยู่ท่ามกลางหุบเขา ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ไร้การรุกรานรุกคืบด้วยระบบทุนนิยม วิถีชีวิตผู้คนเป็นไปแบบดั้งเดิมและการย่างก้าวอย่างช้าๆ แต่ว่ามีความงดงามอยู่ในตัว ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมกับผู้คนที่มีความเรียบง่าย อาชีพที่ทำสืบต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลาน ยังคงสอดคล้องกับธรรมชาติที่เป็นทุนนิยมอันงดงาม ไม่เพียงแต่สวนผลไม้ขึ้นชื่อในพื้นที่เมืองลับแล หากแต่มนต์เสน่ห์เมืองลับแล เมืองมหัศจรรย์แห่งขุนเขาแห่งนี้ ยังคงมีเรื่องราวตำนานเล่าขาน เรื่องราวเร้นลับ ให้เราได้ค้นหา ถูกถ่ายทอดกันมาปากต่อปาก รุ่นแล้วรุ่นเล่า เกี่ยวกับตำนานเมืองแม่ม่าย อันเป็นที่มาของคำขวัญของชุมชนที่ว่า “เมืองลับแล เขตห้ามพูดโกหก” จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองแห่งสัจจะวาจา นอกจากนี้ ด้วยสภาพภูมิประเทศภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูง และมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นแหล่งปลูกผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่ ลางสาด และทุเรียน ทั้งยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ทำมาแต่ครั้งบรรพบุรุษหลายชั่วคน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้ำค่า ได้แก่วิธีการปลูกทุเรียนบนภูเขาอันน่าทึ่ง เริ่มจากการใช้หนังสติ๊กยิงส่งเมล็ดทุเรียนพันธุ์ดีขึ้นไปตกบนภูเขา รอให้งอกเงยขึ้นเอง ใส่ปุ๋ยดูแลบ้างตามวาระ ราว ๖-๗ ปี ทุเรียนจะผลิดอกออกผล ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยผลไม้ ทั้งลางสาด ลองกอง มังคุด และทุเรียน จนได้ชื่อว่าเป็น “ภูเขากินได้” ส่งผลให้เกิดประเพณีที่มีอัตลักษณ์ตามสภาพพื้นถิ่นของชุมชนอย่าง “ประเพณีบายศรีสู่ขวัญผลไม้ลับแล”

ชุมชนเมืองลับแล ประกอบไปด้วย ๓ ชาติพันธุ์ คือ
๑. ชาติพันธุ์ไทยวน อพยพมาจากเชียงแสน พวกหนึ่งมาอยู่ที่ลับแล ตั้งหมู่บ้านครั้งแรกที่หมู่บ้านเชียงแสน อีกพวกหนึ่งไปอยู่ที่หมู่บ้านน้ำอ่าง ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน ดังบทสัมภาษณ์ของครูสมชาย ปงศรีชัย ความว่า “ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งสองฝ่าย จะเล่าให้ฟังเหมือนกันว่าอพยพมาพร้อมกัน ตากข้าวเหนียวใส่ไคร่มัดติดตัวกันไว้ แล้วก็ห่อเม็ดเต้าเม็ดแตงมาคนละนิดละหน่อย ทางเมืองลับแลก็พูดเช่นนี้ทางกับน้ำอ่างก็พูดเช่นนี้ตรงกันเลย”
๒. ชาติพันธุ์ไทพวน ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยรัชการที่ ๓ มาอยู่แถวบ้านป่ายาง บ้านน้ำใส บ้านนาทะเล อำเภอลับแล ต่อมาบางส่วนได้ย้ายไปอยู่ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย คือ พวกหาดเสี้ยว ซึ่งมีความชำนาญในการทอผ้า เมื่อมาอยู่ลับแล ได้รับวัฒนธรรมการทอผ้าซิ่นตีนจกจากลับแลไปด้วย รูปแบบจะเป็นแบบไทยวนแต่ลวดลายจะเป็นของหาดเสี้ยว      
๓. ชาติพันธุ์เชื้อสายจีน จะมีอยู่ที่ชุมชนตลาดลับแล ณ ปัจจุบัน สมัยพระศรีพนมมาศเป็นนายอากรสุรา มีชื่อว่า ทองอิน มีเชื้อสายจีนแต่ด้วยความรักในท้องถิ่น จึงพัฒนาเมืองลับแลมาโดยตลอด เป็นผู้นำชุมชนที่ชาวลับแลให้ความนับถือ และในปัจจุบันมีคนไทยเชื้อสายจีนมาอยู่ในชุมชนตลาดลับแล โดยส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขาย
     ณ วันนี้ “ลับแล” ยังคงมนต์เสน่ห์เรื่องราวแห่งขุนเขาที่หลายคนอยากเข้าไปค้นหา เพราะที่แห่งนี้คือแผ่นดินอันสงบเงียบ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ ผืนแผ่นดินอ้อมกอดแห่งขุนเขา

สถานที่ท่องเที่ยว
- สักการะอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ
- พิพิธภัณฑ์เฮือนคำหยาด ของอาจารย์สมชาย ปงศรีชัย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่เก็บรักษาผ้าทอโบราณอายุกว่า ๒๐๐ ปี 
- วิถีชีวิตโรงตากหอมลับแล  พืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับชาวลับแล 
- บ้านข้าวแคบ อาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมของชาวลับแล 
- วัดเสาหิน โบราณสถานที่สำคัญและงดงามแห่งหนึ่งของอำเภอลับแล 
- วัดป่ายาง ชมอุโมงค์ดอกลีลาวดี อุโมงค์ดอกไม้ที่สร้างจากธรรมชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ๕ ทรงปลูกไว้ มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี  
- วัดม่อนปรางค์ 
- ถนนข้าวแคบ ถนนสายเศรษฐกิจสำคัญที่จำหน่ายอาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมของชาวลับแล
- บ้านร้อยปีคุณมงคล แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม  
- ห้องแถวเรือนไม้เก่า สถาปัตยกรรมแบบโบราณ 
- ประติมากรรมตำนานแม่หม้าย สัญลักษณ์ของการเข้าเขตห้ามพูดโกหก
- ซุ้มประตูเมืองลับแล
- พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล สถานที่ที่รวบรวมเรื่องราวทางวัฒนธรรมไว้มากมาย

ด้านวัฒนธรรม  
๑.ประเพณีสิบสองเดือนเมืองลับแล  
- เดือนอ้าย ทำบุญคูณลาน (บุญขวัญข้าว)
- เดือนยี่   ใส่บาตรผิงหนาว
- เดือนสาม ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก นอกจากนั้นในเดือนสามยังมีประเพณีนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ 
กำหนดระหว่างวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือเรียกว่า “เทศกาลมาฆบูชา” ของทุกปีมีมาตั้งแต่ พ.ศ.๓๐๖ โดยมีการจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่มีร้านค้าของพื้นเมือง (ลับแล ศรีสัชชนาลัย) ของที่ระลึก มหรสพ
- เดือนสี่ บวชพระและทอดผ้าสี่ไตร
- เดือนห้า สงกรานต์
- เดือนหกวิสาขบูชา
- ประเพณีอัฐมีบูชา พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง เป็นประเพณีของชาวลับแลที่ไม่มีใครเหมือน ซึ่งจัดกันมายาวนาน ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง รวม ๙ วัน เริ่มจากวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) จนถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ (บางทีก็จะเป็นเดือน ๗ ถ้าเป็นปีอธิกมาศ) ถือเป็นวันอัฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระองค์ ตามพุทธประวัติเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยคและสูญเสียพระสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง ในงานจะมีการแสดงประกอบแสง สี เสียง อย่างยิ่งใหญ่สวยงามในช่วงค่ำ ส่วนช่วงบ่ายจะประกอบพิธีห่มผ้าพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ช่วงเวลาประมาณเดือนพฤษภาคม
- เดือนเจ็ด  สลากภัต
- เดือนแปดเข้าพรรษา อาสาฬหบูชา
- เดือนเก้าประเพณีสลากชะลอมและก้างบูยา
- เดือนสิบวันสารทไทย
- เดือนสิบเอ็ดออกพรรษา

๒.ประเพณีคนไทยเชื้อสายจีน  ชุมชนศรีพนมมาศในส่วนของคนไทยเชื้อสายจีนยังคงปฏิบัติวัฒนธรรมของบรรพบุรุษมาสืบเนื่องให้เห็นอยู่  ดังได้แก่
- วันตรุษจีน  
- เช็งเม้ง 
- สารทจีน 
- เทศกาลไหว้พระจันทร์  
- เทศกาลกินเจที่ศรีพนมมาศ 

๓. ประเพณีบายศรีสู่ขวัญผลไม้ลับแล

เส้นทางจักรยานเมืองลับแล
ลับแลเป็นอำเภอเล็กๆ เงียบสงบ (slow life) เหมาะสำหรับการขี่จักรยาน สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน ชมสวนผลไม้  และทุ่งนา มีเส้นทางแนะนำดังนี้ 
เส้นทางที่ 1 จากอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ ผ่านตลาดศรีพนมมาศ เลี้ยวซ้ายไปวัดศรีดอนสัก ตรงไปจะผ่านสี่แยก ผ่านสถูปบรรจุพระอัฐิพระศรีพนมมาศ ผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวรักไอติม วัดป่ายาง ถนนคนเดิน แวะชิมอาหารพื้นเมือง ชมซุ้มประตูลับแล แล้ววกกลับจุดเดิม 
 
เส้นทางที่ 2 จากม่อนจำศีล เลี้ยวซ้ายที่ม่อนลับแล ผ่านสถานีอนามัย เลี้ยวซ้ายที่ผ่านวัดท้องหลวง ผ่านวัดใหม่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร วัดทุ่งเอี้ยง ปั้มปตท. ม่อนจำศีล 

เส้นทางที่ 3 เริ่มจากตลาดผลไม้ ผ่านเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ วัดดอนค่า วัดดอนแก้ว เฮือนลับแล สวนผลไม้ น้ำตกแม่พูล หมายเหตุ : ระยะทางไปน้ำตกแม่พูลค่อนข้างไกลสามารถติดต่อขอยืมจักรยานได้ฟรี ที่สำนักงานเทศบาลตำบลศีรพนมมาศ นอกจากนี้ทางเทศบาลยังมีรถรางนำชมเมืองลับแลด้วย แต่ต้องติดต่อล่วงหน้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ
โทร.055-431-076 
พิกัด 17.651833, 100.044281

การเดินทาง
อำเภอลับแล อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 5 กิโลเมตร เข้าเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล หรือไปตามทางหลวงหมายเลข 1041 (ถนนอินใจมี) ประมาณ 7 กิโลเมตร ผ่านตำบลท่าเสา อำเภอเมือง และเข้าสู่ตำบลศรีพนมาศ อำเภอลับแล