การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแหลมสน (PAC) ครั้งที่ 2/2563

21 พ.ค. 2563      351 views

แชร์ทั้งหมด 0 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

วันนี้ (21 พ.ค.63) ดร.พัฒพงศ์ พงษ์สกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแหลมสน (PAC) ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมอาคารค่ายเยาวชน ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแหลมสน นายเฉลิม เพชรรัตน์ นายอำเภอกะเปอร์ ประธานการประชุม โดยมี นายสุกฤติ กระต่ายจันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแหลมสน โดยประธานได้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน รายงานผลการปฎิบัติงาน ,สรุปการจัดเก็บรายได้และสถิติเงินรายได้รวมทั้งโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแหลมสน
ในส่วนของวาระเพื่อพิจารณาอุทยานแห่งชาติแหลมสนขอความเห็นชอบช่วงเปิด-ปิดเวลาการท่องเที่ยวประจำปี โดยตารางปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานประจำปี 2563 ของเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 กำหนดให้ปิดอุทยานตั้งแต่ วันที่ 16 พฤษภาคม -14 ตุลาคม 2563 ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงมรสุมและเป็นช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ
ซึ่งที่ประชุมทางคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแหลมสน ได้มีมติให้พิจารณาเรื่องปิดการท่องเที่ยวของทางอุทยานโดยแยกพื้นที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางบกกับพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล โดยทางทะเลที่ประชุมมีมติให้ปิดการท่องเที่ยวในระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม -14 ตุลาคม 2563 ส่วนพื้นที่ทางบกมีมติให้ปิดการท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2563 เนื่องจากทางคณะกรรมการฯมีความเห็นว่าอุทยานแห่งชาติแหลมสน มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามต่างๆมากมายที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมได้โดยไม่ต้องลงเรือไปท่องเที่ยวทางทะเลหรือเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวได้ อาทิ กิจกรรมการดูนกแก้ว นกอพยพตามฤดูกาล ฯลฯ การเดินชมพระอาทิตย์ตกดิน กิจกรรมต่างๆ ที่ชายหาดแหลมสน และกิจกรรมการชมลิงแสม
ซึ่งที่อุทยานแห่งนี้มีลิงแสมอีกสายพันธ์หนึ่งที่แตกต่างลิงแสมในพื้นที่อื่นๆโดย Michael Haslam หัวหน้านักโบราณคดีไพรเมท จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ร่วมกับหน่วยวิจัยไพรเมท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พบว่า ลิงแสมไทย(macaques) บนเกาะเปียกน้ำจังหวัดระนอง ได้รู้วิธีใช้เครื่องมือหินอย่างหินกำปั้นในการหาอาหาร ซึ่งใกล้เคียงกับบรรพบุรุษมนุษย์ยุคหินมากที่สุด
จากนั้นประธานและคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานได้เดินทางไปที่อ่าวเคย เพื่อร่วมกันปล่อยลูกกุ้งจำนวน 300,000 ตัว ลงสู่ทะเลตามโครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยสำนักงานประมงอำเภอกะเปอร์