โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

26 ก.ค. 2561      1451 views

แชร์ทั้งหมด 1 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

     ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ โดยแท้ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง โครงการชลประทาน จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีราษฎรหรือเกษตรกรด้านน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค จึงเกิดขึ้นมาได้ นอกจากนั้น “หนองบัว” แหล่งน้ำธรรมชาติคู่บ้านคู่เมือง พื้นที่ 100 ไร่ ยังได้รับการขุดลอกไม่ให้ตื้นเขินอีกต่อไป ด้วยพระมหากรุณาธิคุณให้ขุดลอก เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) ทำให้จังหวัดหนองบัวลำภู มีที่เก็บกักน้ำท่วมขังในใจกลางเมืองในฤดูฝน ก่อนจะระบายออกไปสู่คูคลอง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของจังหวัดหนองบัวลำภู คงจะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่พสกนิกรชาวจังหวัดหนองบัวลำภู ทุกถ้วนหน้าตลอดกาล และจะดำรงอยู่ในหัวใจทวยราษฎร์ชาวหนองบัวลำภู ชั่วนิรันดรด้วย

ประวัติความเป็นมา
     เมื่อปี 2513 ทางอำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ได้จัดทำโครงการขุดลอกหนองบัวลำภู ทั้งนี้เนื่องจากตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้นเต็มหนอง ขาดความศักดิ์สง่างามไม่สมกับเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งเป็นจุดรวมใจของประชาชน หนองมีความจุน้ำประมาณ 250,000 ลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากทางจังหวัดไม่สามารถจัดหางบประมาณดำเนินการได้จึงมิได้ดำเนินการ 
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2518 พ.อ. สมคิด ศรีสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี ได้เข้าพบอธิบดีกรมชลประทาน ขอให้ปรับปรุงหนองบัวลำภู ให้ด้วย แต่เรื่องเงียบไป

     ในปี 2526 สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้รับ พน.3 โครงการอ่างฯ ห้วยเชียง และได้จัดเข้าแผนงานก่อสร้างชลประทานขนาดเล็กในปีเดียวกัน ได้ทำการสำรวจสภาพภูมิประเทศบริเวณอ่างฯ แต่ปรากฏว่ามีปัญหาที่ดินบริเวณอ่างฯ ราษฎรไม่ยินยอมจึงได้ระงับโครงการไว้ก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2526 สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ทราบว่าประธานสภาตำบลหนองบัว ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างฯ แห่งนี้ โดยทางสภาตำบลจะหาเงินชดเชยค่าที่ดินแก่ราษฎร

     สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้จัดทำรายงานการวางโครงการเบื้องต้นเสนอกรมชลประทาน โดยชี้แจงว่า โครงการนี้จะได้จัดเข้าแผนงานก่อสร้างเป็นโครงการพระราชดำริประมาณ ปี 2528 ได้รายงานกรม และร่างหนังสือชี้แจงราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2526 ได้เสนอให้กองอุทกวิทยาศึกษาทางอุทกวิทยา และกำหนดความจุที่เหมาะสม และให้กองวิทยาการธรณีดำเนินการเจาะสำรวจฐานราก ในเดือน มีนาคม 2527 ต่อมาสำนักงานชลประทานที่ 4 ได้บันทึกเสนอกรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2527 แจ้งแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขต สำนักงานชลประทานที่ 4 ซึ่งสำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง ได้กำหนดแผนไว้ว่าจะพิจารณาสร้างฝายตอนใต้อ่างฯ วางระบบส่งน้ำจากเหนือฝายถึง อ.หนองบัวลำภู โดยใช้น้ำจากลำห้วยเสาขัว ซึ่งเป็นลำดับน้ำของลำห้วยเชียง อีกสายหนึ่งตอนใต้อ่างฯ และใช้น้ำจากอ่างฯ ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ ที่ประชุมเห็นด้วย และให้ สำนักงานชลประทานที่ 4 ดำเนินการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ จัดทำรายงานการวางโครงการเบื้องต้น ตามผลการประชุมเสนอกรมฯ เพื่อพิจารณา และนำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อรับไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริต่อไป กองวิทยาการธรณีดำเนินการเจาะสำรวจฐานรากแล้ว ในเดือน กรกฎาคม 2530 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 กรมชลประทานส่งเรื่องเสนอสำนักราชเลขาธิการ เพื่อให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เห็นสมควรรับเป็นโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริพร้อมกับรายงานเสนอว่า จะทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางในระยะปี 2531 และฝายทดน้ำปิดกั้นห้วยเชียง เป็นโครงการในระยะสอง โดยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. เพื่อการสร้างอ่างฯ ในปี 2531

     ต่อมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2531 สำนักงานราชเลขาธิการได้มีหนังสือถึงกรมชลประทานความว่า ตามที่ จังหวัดอุดรธานี ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง ซึ่งกรมชลประทานได้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง ระยะแรก และจะทำการก่อสร้างฝายทดน้ำปิดกั้น ลำห้วยเชียง พร้อมทั้งระบบส่งน้ำในเขตพื้นที่โครงการประมาณ 2,000 ไร่ ในระยะที่ 2 อันจะเป็นการช่วยเหลือราษฎรในการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค และผลประโยชน์ที่จะได้รับคุ้มค่า เป็นการลงทุนโดยกรมชลประทานได้ทำการสำรวจออกแบบเรียบร้อยพร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งเห็นสมควรให้ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

     โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง บ้านภูพานทอง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองบัว จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอโนนสัง และอำเภอศรีบุญเรือง ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 60% ของจังหวัด และเพื่อให้ราษฎรอีก 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาวัง อำเภอนากลาง และอำเภอสุวรรณคูหา มีน้ำสำหรับการอุปโภค – บริโภค และทำการเกษตรเพียงพอ กรมชลประทานได้จัดทำโครงการต่อเนื่องจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ โครงการงานส่งน้ำ และบำรุงรักษาที่ 2 ต่อเนื่องจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง โดยขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ของอำเภอนาวัง จำนวน 6 ไร่ เป็นที่ตั้งหัวงาน ทำให้ระบบชลประทานของจังหวัดครอบคลุมเต็มพื้นที่ของจังหวัด

ลักษณะเด่น
ประโยชน์โดยตรง

  • ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด รวมทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้ใช้เป็นแหล่งจับปลาได้ด้วย
  • ราษฎรและสัตว์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รอบอ่างเก็บน้ำสามารถอาศัยน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค ในฤดูแล้ง
  • ส่งน้ำเพื่อการประปาในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ประมาณปีละ 720,000 ลูกบาศก์เมตร
  • เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกในฤดูฝน โดยการทำระบบเหมืองฝายทางด้านท้ายน้ำ และช่วยได้ประมาณ 2,000 ไร่

ประโยชน์โดยอ้อม

  • ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
  • เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีภูเขา ป่าไม้ และแหล่งน้ำสวยงาม อุดมสมบูรณ์ และมีอากาศบริสุทธิ์แห่งหนึ่งของประเทศ
  • ราษฎรอาศัยอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำ สามารถชักน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกในฤดูฝน และฤดูแล้งเท่าที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะเอื้ออำนวย

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบล หนองบัว  อำเภอ เมืองหนองบัวลำภู  จังหวัด หนองบัวลำภู 39000
พิกัด Latitude 17.2411111      
พิกัด Longitude  102.4608333