เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน

23 ก.ค. 2561      4373 views

แชร์ทั้งหมด 10 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
 
แต่เดิมพื้นที่บริเวณด่านเกวียนนั้นเป็นเมืองหน้าด่านที่เรียกว่า “ด่านกระโทก” ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางบกระหว่างนครราชสีมากับชายแดนกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างมากคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และค้าขายพืชผลทางการเกษตร และด้วยความที่ในสมัยก่อนมีพ่อค้าเกวียนจำนวนมาก มาหยุดพักกองคาราวานในบริเวณนี้ ชุมชนดังกล่าวจึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ด่านเกวียน”
 
 
แต่ก่อนที่จะมีคนไทยอพยพเข้าไปตั้งรกรากบริเวณชุมชนด่านเกวียน พื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นอาศัยของชาวข่า ซึ่งเป็นคนเชื้อสายมอญ ดังนั้น เมื่อมาอยู่รวมกันจึงเกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนด่านเกวียนมักจะใช้เวลาในช่วงที่ว่างจากการทำเกษตรกรรมมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ โอ่ง กระถาง ไห ครก รอฝนยา ฯลฯ รวมทั้งนำบางส่วนที่ผลิตได้ขนขึ้นเกวียนไปค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศกัมพูชาด้วย ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2485 ผลจากนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างรายได้จากสินค้าท้องถิ่น อันมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แพร่เข้ามาในชุมชนด่านเกวียน จึงทำให้การผลิตมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายมากยิ่งขึ้น จนชุมชนด่านเกวียนกลายเป็นแหล่งค้าเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง
 
 
ปัจจุบันชุมชนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ทางการเกษตร ของตกแต่งบ้านและสวน รวมทั้งเครื่องประดับ โดยรูปแบบการผลิตยังคงเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของด่านเกวียนเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต การปั้น การตกแต่งลวดลาย และการเผาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี แต่ถึงกระนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ วัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาหาได้ยากและมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาด้านจำนวนช่างที่ลดน้อยลง และขาดการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีลวดลายที่แปลกใหม่ไปจากของเดิม ก็ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนไม่ถูกพัฒนาไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา