ศาลเจ้าพ่อประตูผา-ภาพเขียนสีโบราณ

31 ม.ค. 2565      377 views

แชร์ทั้งหมด 0 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

            "ศาลเจ้าพ่อประตูผา" เจ้าพ่อประตูผาหรือ ”พระยามือเหล็ก” เป็นคนบ้านต้า (ปัจจุบันคือบ้านหวด อ.งาว จ.ลำปาง) เป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา บวชเรียนป็นศิษย์ของเจ้าอธิการวัดนายาง อ.แม่ทะ จ.ลำปาง “ได้ศึกษาวิชาอยู่ยงคงกระพัน สามารถใช้แขนแทนโล่ห์ได้ เมื่อลาสิกขาออกมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หนานข้อมือเหล็ก” ต่อมาไปเป็นทหารเมืองเขลางค์(ลำปาง) รับใช้เจ้าเมืองลำปางขณะนั้นคือ เจ้าลิ้นก่าน (ลิ้นสีดำ) เพราะมีนิสัยกล้าหาญ และมีฝีมือในการรบ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระยามือเหล็ก ต่อมาเมืองเขลางค์ถูกทัพพม่าซึ่งมีท้าวมหายศ ซึ่งยึดครองเมืองลำพูนรุกราน เจ้าลิ้นก่านพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง และ พระยามือเหล็ก จึงหนีมาตั้งหลักที่ดอยประตูผาและได้มอบหมายให้ขุนนาง 4 คน คือ แสนเทพ แสนหนังสือ แสนบุญเรือน และ จเรน้อย ดูแลรักษาเมืองอยู่ ขุนนางทั้งสี่ไม่กล้าต่อสู้กับทหารพม่า ซึ่งกำลังจะเข้าบุกเมือง เจ้าอธิการวัดนายาง จึงรวบรวมชาวบ้านเข้าต่อสู้สกัดทัพพม่า แต่ก็สู้ไม่ได้ต้องแตกหนีกันไป ท้าวมหายศแม่ทัพพม่าจึงส่ง ขุนนาง 3 คน คือ หารฟ้าฟื้น หารฟ้าแมบ และ หาญฟ้าง้ำ เข้ามาเจรจากับฝ่ายเมืองเขลางค์ให้ยอมแพ้ แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ พม่าจึงบุกเข้าเมือง และ สังหารขุนนางทั้งสี่ แต่จเรน้อยหนีรอดไปได้ และ ไปสมทบ ทหารพม่าไล่ติดตามมาทันที่ดอยประตูผาซึ่ง มีภูมิประเทศเป็นหน้าผาสูงชัน มีทางเข้า ออก เพียงทางเดียว พญาข้อมือเหล็กจึงให้จเรน้อยพาเจ้าลิ้นก่านไปหลบอยู่ในถ้ำ และได้เข้าต่อสู้กับทหารพม่าอย่างกล้าหาญ โดยใช้ดาบสองมือ ทหารพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก จนทหารพม่าล่าถอยไปไม่กล้าบุกต่อ พญาข้อมือเหล็กอ่อนแรงถือดาบนั่งพิงหน้าผาคุมเชิงอยู่จนสิ้นใจ ฝ่ายทหารพม่าก็ไม่กล้าบุกเข้ามา เพราะนึกว่าเป็นกลอุบายจึงล่าถอยกลับเมืองเขลางค์ เมื่อเจ้าลิ้นก่าน และ จเรน้อย ออกมา จึงพบร่างพญาข้อมือเหล็กสิ้นใจพิงหน้าผาอยู่ จึงได้ตั้งศาลเพียงตา และ เชิญดวงวิญญาณของพญาข้อมือเหล็กมาสิงสถิตอยู่ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความดี และความกล้าหาญ ไว้ให้บรรพชนรุ่นหลังได้รำลึกถึง โดยตั้งชื่อว่า ”ศาลพญาข้อมือเหล็ก” ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า ”ศาลเจ้าพ่อประตูผา”

ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมักจะนำสมุนไพร ของป่า มาวางขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไปมา

 

            นอกจากนี้บริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผา ยังมีภาพเขียนสีโบราณยุดก่อนประวัติศสาตร์ อายุ 3000-5000 ปี ที่เล่าขานกันว่ายาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย จำแนกออกได้เป็น 7 กลุ่มตามลักษณะการเว้าของหน้าผา โดยมีความยาวของภาพเขียนทั้งสิ้นประมาณ 300 เมตร ภาพบางส่วนมีร่องรอยถูกเขียนทับซ้อนกันไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ทำให้พื้นที่เขียนภาพมีลักษณะเป็นปื้นสีแดงหนา นอกจากนั้นยังมีภาพบางส่วนเลอะเลือนเนื่องจากการผุกร่อนตามกาลเวลาและจากการทำลายทั้งโดยธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์