บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง

12 ก.ค. 2561      3298 views

แชร์ทั้งหมด 1 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

ตำนาน
        “พระร่วง” เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม มีนิสัยคะนองชอบเล่นเบี้ย เล่นว่าว เล่นไก่ เจ้าชู้ โดยไม่ถือพระองค์  ชอบเสด็จไปในท้องถิ่นทุรกันการ  และเมื่อเสด็จไปในที่ต่าง ๆ ก็มักจะเกิดเป็นตำนานขึ้นมากมาย  กล่าวกันว่า พระร่วงเป็นผู้มีบุญญาธิการ รู้ทั้งบังเหลื่อม รู้จบไตรเทพวิทยาคม อีกทั้งมี วาจาสิทธิ์  จากตำนานโบราณกล่าวว่า พระร่วงได้เสด็จมาถึงบริเวณเขาไก่เขี่ย พระองค์ได้ไก่ป่าตัวหนึ่ง เมื่อเสด็จมาถึงสถานที่ร่มรื่น พระองค์ทรงหิว และตั้งใจจะเสวยไก่ป่า จึงได้สาปบริเวณนี้เป็นบ่อน้ำพุร้อน เพื่อที่จะได้นำน้ำร้อนมาลวกไก่ และถอนขน เมื่อถอนขนเสร็จ ไม่มีน้ำเย็น จึงสาปน้ำเย็นขึ้นเพื่อล้างไก่ ด้วยเหตุนี้  จึงเกิดบ่อน้ำร้อน บ่อน้ำเย็น บริเวณใจกลางบึงสาป เขาไก่เขี่ย หรือจากข้อสันนิษฐาน กล่าวว่า พระองค์คงสาปน้ำร้อน น้ำเย็น เพื่อทำความสะอาดไก่ หรือที่เรียกว่าให้น้ำไก่ แล้วพระองค์ ก็ได้เดินทางต่อไป บ่อน้ำร้อน น้ำเย็น กลายเป็น “บ่อน้ำร้อนบึงสาป”เขาไก่เขี่ย และ ในวโรกาสรัฐพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530  ได้นำน้ำจากบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงไปร่วมพิธี ณ พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการยืนยันความสำคัญของน้ำพุร้อนพระร่วงได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านลานหิน ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 


ประวัติความเป็นมา
         องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และบริการสาธารณะ จึงได้ขออนุญาตกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อขอเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้  เนื้อที่ 15-0-38 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2543  ตามประกาศกรมป่าไม้ ลงวันที่ 15 กันยายน  2543  เรื่อง กำหนดบริเวณพื้นที่ให้ส่วนราชการหรืองค์การของรัฐเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าแม่ระกา) ฉบับที่ 178/2543  และตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในแหล่งบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง เพื่อให้มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดกำแพงเพชร และภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยที่เป็นไปตามมาตรฐาน

          บ่อน้ำพุร้อนพระร่วงบึงสาป มีลักษณะทางกายภาพ คือ เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติจากใต้ดิน มีความร้อน 40 - 65 องศาเซลเซียส ซึ่งหากอาบหรือแช่น้ำแร่สามารถแก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาการบ่าแข็ง  ข้อติด ข้อเคล็ดหรือข้อแพลง และโรคผิวหนัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ได้ส่งตัวอย่างน้ำพุร้อนไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางด้านกายภาพ – เคมี และโลหะหนัก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ที่กลุ่มงานวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 นครสวรรค์ และตามรายการที่ตรวจวิเคราะห์ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินที่ไม่ใช่ทะเล ตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่องการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111  ตอนที่ 16 ง ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 (ภาคผนวก ฒ) ปรากฏว่า คุณภาพน้ำอยู่ใน ระดับที่ 2 อุปโภคและบริโภคต้องผ่านขบวนการบำบัดน้ำโดยทั่วไปก่อนใช้ประโยชน์
    

เส้นทางเข้าแหล่ง
    เส้นทางที่ 1    สายกำแพงเพชร – สุโขทัย  18  กม. แยกซ้าย 11 กม. รวม 29 กม.
    เส้นทางที่ 2    สายหนองปลิง – ท่าไม้แดง 23  กม. แยกซ้าย   5 กม. รวม 28 กม.
    เส้นทางที่ 3    สายถนนพหลโยธิน ทางเข้าบ้านเกาะรากเสียด  ระยะทาง 12.5 กม. 
  
ช่องทางการติดต่อ
         โทรศัพท์ 086 – 403 - 3537,  055 – 741 – 787 
         Facebook:  บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร 
         E-Mail:  Hotspring.kpp@.com

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
         สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด     องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
         ถนนพหลโยธิน  ต.อ่างทอง  อ.เมืองกำแพงเพชร  จ.กำแพงเพชร 62000
         โทรศัพท์  055 – 718 – 280 - 96  ต่อ 130  ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว
         
เวลาเปิดให้บริการ
        เปิดให้บริการทุกวัน  ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.


กิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวบ่อน้ำพุ
    1. สักการะศาลพระร่วงเจ้า
    2. ท่องเที่ยวนันทนาการ/ พักผ่อน  
    3. บ้านพักรับรอง
    4. อาบน้ำแร่ (ห้องส่วนตัวและห้องรวม)
    5. แช่น้ำแร่ (ฝ่าเท้า)
    6. บริการจักรยานน้ำ
    7. ศาลากลางน้ำสำหรับกิจกรรมงานเลี้ยง  


สิ่งอำนวยความสะดวก
    1. ห้องแช่/อาบ รวม 2 ห้องใหญ่ แยก ชาย/หญิง
    2. ห้องแช่/อาบ ส่วนตัว (ประมาณ 5-7 คน)  7 ห้อง
    3. สระแช่เท้า/เดิน นวดฝ่าเท้า รวม 2 แห่ง
    4. ห้องสุขา 9 ห้อง (แยก ชาย 5 ห้อง หญิง 3 ห้อง  คนพิเศษ 1 ห้อง)
    5. ห้องอาบน้ำ 2 ห้อง (แยก ชาย 1 ห้อง หญิง 1 ห้อง)
    6. ทางลาดสำหรับผู้พิการ/ผู้สูงอายุ (คนพิเศษ) ภายในแหล่งท่องเที่ยว
    7. บ้านพักรับรอง  หลังใหญ่ 3 หลัง  บ้านน๊อคดาวน์  10 หลัง
    8. อาคารนอนรวมกรณีมาเป็นหมู่คณะ  จำนวน 20 คน
    9. จุดบริการอาหาร/เครื่องดื่ม/ขายของที่ระลึก
    10. มีบริการพื้นที่ให้กางเต็นท์
    11. ศาลาพักผ่อน
    12. บริการห้องประชุม ประมาณ 60 คน
    13. ลานจอดรถ 2 แห่ง
    14. จักรยานน้ำ 7 ลำ
    15. ศาลากลางน้ำสำหรับเลี้ยงรับรองแขก และนั่งพักผ่อน
    
อัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการ
    - ค่าเข้าชม (ฟรี)
    - ค่าเช่าห้องอาบน้ำแร่ 50.- บาท/ห้อง ขนาด 2 - 7 คน
    - ค่าอาบ/แช่ น้ำแร่ 30.-บาท/คน
    - ค่าอาบ/แช่น้ำแร่ ห้องรวม คนละ 30.- บาท
    - ค่าแช่เท้า/เดิน  นวดฝ่าเท้า 2 แห่ง (ฟรี)
    - ค่าเช่าบ้านพักรับรอง หลังใหญ่  ราคา 1,200.-บาท/คืน  หลังน๊อคดาวน์ ราคา 500.-บาท/คืน
    - ค่าเช่าห้องประชุม 1,500.-บาท/ครั้ง
    - ค่าเช่าจักรยานน้ำ 20.-บาท/คน/30 นาที

แนวทางการพัฒนาบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง
          ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง  โดยพัฒนาศักยภาพของแหล่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ ของการบริการ  สถานที่  ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการ  ให้แก่นักท่องเที่ยว  ด้านประโยชน์สภาพแวดล้อม และการออกแบบกิจกรรมบริการ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวและติดตามประเมินผล และการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่
 


แหล่งที่มา :