พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

12 ก.ค. 2561      4765 views

แชร์ทั้งหมด 0 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

เทวรูปพระอิศวร ชาวเยอรมัน ชื่อ เจ.อี.รัสต์แมนได้ลักลอบนำพระเศียรและพระหัตถ์ของเทวรูปกลับเยอรมนี แต่ถูกจับได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สั่งไปยังเมืองกำแพงเพชรทำการรวบรวมของโบราณ
ท่านองค์เทวสตรี ศิลปะอยุธยา เดิมประดิษฐานที่เทวสถานในเมืองกำแพงเพชร
เศียรพระพุทธรูป ศิลปะสมัยสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร พบจากการขุดแต่งโบราณสถานจังหวัดกำแพงเพชร
สถาปัตยกรรมรูปเทพนมในกรอบรูปกลีบบัว ศิลปะอยุธยา พบจากการขุดแต่งที่วัดข้างรอบ จ.กำแพงเพชร
มังกรคายนาคสังคโลก ใช้ประดับปลายกรอบหน้าบันพุทธสถานศิลปะสุโขทัย พบที่วัดบ่อสามแสน อำเภอเมือง จังหวัด กำแพงเพชร
เศียรพระพุทธรูป ศิลปะสมัยสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร (พุทธศตวรรษที่ 20-21) ย้ายมาจากศาลากลาง จังหวัดกำแพงเพชรเดิม
แท่นหินและหินบด ศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16-17) พบที่เมืองไตรตรึงษ์

ที่ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

ถนนปิ่นดำริ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง กำแพงเพชร 62000 เบอร์ติดต่อโทร. 5571 1570


     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ระหว่างโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมกับพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ถนนปิ่นดำริห์ ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีเพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้นแหล่งโบราณคดีและจากการขุดแต่ง บูรณะโบราณสถาน ภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาตร์และศิลปกรรมของท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหลัก เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ อาทิเช่น ศิลปทวารวดี ศิลปลพบุรี และศิลปรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ เมื่อ พ.ศ. 2429 และได้ซ่อมแซมให้คืนดีในภายหลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เริ่มสร้างเมื่อพุทธศักราช 2510 และทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2514 โดย ฯพณฯ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ในภายหลังทั้งชั้นล่างและชั้นบนของอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ล้วนเก็บรักษาวัตถุโบราณที่น่าสนใจ ได้แก่


โบราณวัตถุชิ้นสำคัญจัดแสดงภายในอาคารชั้นล่าง
     -ภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์
     -พระพุทธรูปชินแบบหริภุญไชย
     -พระพุทธรูป สำริดแบบอู่ทอง
     -โถพร้อมฝาสังคโลกแบบสุโขทัย
     -ชามลายครามสมัยอยุธยา
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดงภายในอาคารชั้นบน
     -เทวรูปพระอิศวร
     -พระพุทธรูป สกุลช่างกำแพงเพชร
     -เศียรเทวดาปูนปั้น
     -หัวมกร จากวัดฆ้องชัย
     -นางอัปสรรำ
     -กระเบื้องเชิงชายรูปเทพนม

วันเปิดทำการ : วันพุธ - วันอาทิตย์  เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาทชาวต่างชาติ 100 บาท
โดยรถยนต์ : ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ไปถึงวงเวียน ใช้ทางออกที่ 3 ตรงไป 700 เมตร เข้าซอยปิ่นดำริห์ 400 เมตร เลี้ยวขวา พิพิธภัณฑ์อยู่ด้านซ้ายมือ

วัดพระบรมธาตุนครชุม
     พระบรมธาตุนครชุมเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชรและวัดพระบรมธาตุ จาก จารึกนครชุม ความในจารึกนครชุม กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมธาตุสรุปความว่า พระยาลือไทยโอรสพระยาเลอไทย พระนัดดาพระยารามราช เสวยราชที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.1890 เมื่อเสวยราชย์แล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายแต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษก เป็นท้าวเป็นพระญา ชื่อ ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช ทรงได้พระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ จากลังกาทวีปใน ปี พ.ศ.1900 จึงทรงนำไปประดิษฐานในเมืองนครชุม และทรงจารึกไว้ว่า "...ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธินี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล..." เดิมภายในวัดมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) สามองค์ตั้ง อยู่บนฐานเดียวกัน เพื่ออุทิศถวาย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลองค์อีก 1 องค์ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญ มากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง  เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมกินเวลายาวนานมากกว่า 600 ปี และยังคงยั่งยืนสืบต่อกันมาเป็นองค์มหาเจดีย์แห่งศรัทธา จวบจนปัจจุบัน
     วัดพระบรมธาตุเจริญรุ่งเรืองมากกว่า 200 ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองนครชุมพังพินาศความเจริญทางพุทธจักรและ อาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือ เมืองกำแพงเพชร ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า 300 ปี จนกระทั่งถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2449 ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า...ใน พ.ศ.2329 สม เด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลเมือง อำเภอเมือง กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรพระยารามณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้อง ให้ประชาชนแผ้วถางพบเจดีย์ตามจารึกและปฏิสังขรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2414 (ซงพอ หรือพระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีให้ศรัทธาจะบูรณะปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้
     วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ 9 องค์,ต้นศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ที่พระยาลิไททรงปลูกไว้,พระอุโบสถหลังเก่า,พระวิหาร,วิหารพระนอน,ศาลาเรือนไทย นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่ชุมชน อีกด้วย
ที่ตั้ง ตำบลนครชุม อำเภอเมือง  จังหวัด กำแพงเพชร
เปิดทำการ : ทุกวัน
สิ่งอำนวยความสะดวก
     - ห้องน้ำสาธารณะ ห้องน้ำผู้พิการ และผู้สูงอายุ
     - เรือนรับรองสำหรับปฏิบัติธรรม
     - ร้านค้าสวัสดิการ
     - ลานจอดรถ


ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร
     เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะสักการะขอพรเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ของหายอยากได้คืน รวมทั้งเสริมสิริมงคลในเรื่องความมั่นคงของชีวิต ด้วยเชื่อกันว่าศาลหลักเมืองกำแพงเพชรนั้นเป็นสิ่งที่พ้องกับความมั่นคงไม่หวั่นไหวเสริมจิตใจให้เข้มแข็ง
จัดตั้ง “ศาลหลักเมือง”
     ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ที่เคยปกครองดูแลเมืองกําแพงเพชร ทําด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร     มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังคาศาลได้พังลงมาทับเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ หลังจากนั้นก็อยู่ในสภาพรกร้างมาเป็นเวลานานจนถึงปีพ.ศ. 2472       รองอํามาตย์เอกหลวงมนตรีราช (หวาน) อัยการจังหวัดกําแพงเพชรได้ริเริ่มสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่โดยเป็นศาลาทรงไทย 
การบูรณะ  “ศาลหลักเมือง”
     มีเหตุการณ์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีผู้ลักตัดเศียรเทพารักษ์ไปหลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทรเจริญชัย) ผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชรได้ให้ทําขึ้นใหม่ด้วยดินจากยอดเขาสูงสุดของเขาหลวง ดินใจกลางโบสถ์ใจกลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกําแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก และตาก ต่อมานายเชาว์ วัตสุดลาภา เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525  ได้ไปสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองและมีความรู้สึกว่าศาลหลักเมืองนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมไร้สง่าราศรี จึงได้มีการปรับปรุงศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ให้สมฐานะการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งในการบูรณะปรับปรุงศาลหลักเมืองครั้งนี้ได้คำนึงถึงความถูกต้องและความสมบูรณ์ของรูปแบบของศาลหลักเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยอาคารศาลหลักเมืองที่ปรับปรุงใหม่นี้ เป็นอาคารจัตุรมุขพร้อมเขตปริมณฑลกว้าง 17.5 x 17.5 เมตร  สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กพื้นหินอ่อนทรายล้างสีศิลาแลง กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเชิญหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ตรงวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช-สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการทรงเจิมเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2527
ที่ตั้ง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000
เปิดทำการ : ทุกวัน  เวลา 08.00 - 17.00 น.        เบอร์ติดต่อ : 0-5561-6228-9
สิ่งอำนวยความสะดวก
     - ห้องน้ำสาธารณะ ห้องน้ำผู้พิการ และผู้สูงอายุ
     - เรือนรับรองสำหรับปฏิบัติธรรม
     - ร้านค้าสวัสดิการ
     - ลานจอดรถ

เขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง
     ประวัติความเป็นมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงเป็นพื้นที่ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาต่างๆ    มีพื้นที่รวมกันประมาณ  101 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ  63,125  ไร่ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่สวยงามและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า  ทางจังหวัดกำแพงเพชรจึงจัดให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว  โดยประกาศให้เป็นเป็นอุทยานเขาสนในวันที่ 1 มีนาคม 2527 และต่อมาทางราชการได้เห็นความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว  จึงได้จัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง  พ.ศ. 2528
     โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีประชาชนกระจายอยู่ล้อมรอบ ส่วนพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงเป็นที่ราบสูงถึงเขาสูง ชัน  ภูเขาที่สำคัญ  ได้แก่  เขาสนามเพรียง  เขาสน  เขาคันนา     เขากิ่วยาว และเขาเจดีย์  ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาสน”  มีความสูง  867 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่ายังสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย  เช่น  คลองแตงโม  คลองหนองประจักษ์  คลองวังชมพู และห้วยต่างๆมากมายไหลลงสู่แม่น้ำปิงผ่านพื้นที่เกษตรกรรมทั่วไป
สภาพภูมิอากาศ มี สภาพแบบมรสุมร้อน-ชื้น แต่เนื่องจากอยู่ในสภาพป่าเขาจึงทำให้อากาศค่อนข้างเย็นอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย  22.47  องศาเซลเซียส  สูงสุดเฉลี่ย  33.36  องศาเซลเซียส
ทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันจึงมีสภาพป่าหลายชนิด  ในระดับ
ความสูงต่างๆกัน  คือ 
1. ป่าดงดิบแล้ง พบทั่วไปตามที่ราบและเนินเขา  มีพรรณไม้เด่น เช่น  ยางนา  ยางแดง  ตะเคียนหิน  สมพง  มะค่า  กระบก  ส่วนพรรณไม้พื้นล่างได้แก่  หลาย  ขิง  และข่า
2. ป่าเบญจพรรณ พบทั่วไปตามที่ราบและเนินเขา  มีพรรณไม้ยืนต้นและไผ่ขึ้นปะปนกัน พรรณไม้เด่น  เช่น  สัก  แดง  ประดู  มะค่าโมง  ชิงชัน  พฤกษ์  เป็นต้น
3. ป่าเต็งรัง พบบริเวณเนินเขาที่ดินมีสภาพปนกับหินและอุ้มน้ำไม่ดี  พรรณไม้เด่น เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง กราด ประดู่  แสลงใจ  มะกอก ผักหวาน เป็นต้น  พรรณไม้พื้นล่าง ได้แก่ หญ้าเพ็ก หรือไผ่เพ็ก
4. ป่าสนเขาผสมป่าเต็งรัง พบบริเวณเขาสน มีพรรณไม้เด่นที่สำคัญ  เช่น  สนสองใบ  สนสามใบ  เหียง           ก่อแพะ  ก่อนก  เต็ง  มีหญ้าเพ็ก  และไผ่โจดเป็นไม้พื้นล่าง ซึ่งเป็นประเภทป่าที่โดเด่นของเขตฯ เขาสนามเพียง
ทรัพยากรสัตว์ เนื่องจากสภาพป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์  จึงมีสัตว์ป่าอาศัยชุกชุมแม้ว่าจำนวนประชากรจะลดลงจากอดีตมากแล้วก็ตาม  สัตว์ป่าที่พบเห็น  เช่น  เลียงผา  เก้ง  หมูป่า  ลิงเสน  เสือไฟ  อีเห็น  และนกนานาชนิด  เช่น  นกกะลิง  นกตะขาบทุ่ง เหยี่ยวรุ้ง  เป็นต้น
เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาสนามเพรียง สภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงจึงจัดทำ เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาสนามเพรียง โดยมีจุดพัก 15 จุดศึกษา ระยะทางประมาณ  1.5 กิโลเมตร  ซึ่งมีคู่มือประกอบการศึกษาด้วย
สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง หรือที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ที่ตั้ง หมู่ที่ 16 บ้านทุ่งธารทอง ตำบลโกสัมพี
เปิดทำการ : ทุกวัน  เวลา 08.30 - 16.30 น.   เบอร์ติดต่อ 0-5555- 6157
การเดินทาง : โดยรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 สายกำแพงเพชร-ตาก ถึงกิโลเมตรที่ 380-381 มีป้ายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงด้านซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าไป 8 กิโลเมตร


แหล่งที่มา :