ปราสาทเมืองต่ำ

10 ก.พ. 2561      2754 views

แชร์ทั้งหมด 1 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดปราสาทบูรพาราม ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยคำว่า เมืองต่ำ นี้ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง โดยมวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุในที่นี้ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา ปราสาทเมืองต่ำสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะปาปวนตอนต้น และลดความสำคัญลงไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 และถูกทิ้งร้างในที่สุด จนเมื่อราวปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีการอพยพเข้ามาของชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง

ปราสาทเมืองต่ำ น่าจะเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย เพราะถึงแม้ได้มีการขุดพบศิวลึงค์แต่ภาพสลักส่วนมากที่ปราสาทนี้ ล้วนเป็นภาพเกี่ยวกับการอวตารของพระนารายณ์ อีกทั้งเป็นปราสาทน้ำล้อม ซึ่งเป็นลักษณะของไวษณพนิกาย ต่างจากกปราสาทบนภูเขาของไศวนิกาย ปราสาทเมืองต่ำเป็นประสาทอิฐกำแพงแก้วและซุ้มประตูทำด้วย หินทราย ส่วนกำแพงด้านนอกทำด้วยศิลาแลงเนินปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีสระน้ำล้อมรอบ ความเด่นของปราสาทเมืองต่ำ คือมีการจำหลักส่วนต่าง ๆ ด้วยลวดลายอันประณีตสวยงามอยู่ใกล้กับโบราณสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่นสระน้ำขนาดใหญ่ที่คนขุดขึ้นในสมัยสร้างปราสาท ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตรยาวประมาณ 1090 เมตร ขอบสระกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงพื้นดินเดิมสระนี้มีน้ำขังอยู่ตลอดปี (บริษัทสุรามหาราช จำกัด2540:229-231)ที่เรียกชื่อว่า ปราสาทเมืองต่ำเนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่พื้นที่ราบเมื่อเทียบกับปราสาทเขาพนมรุ้งซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนาสถานศิลปะขอมแบบบาปวน อายุประมาณ พ.ศ. 1551-1630 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (กรมศิลปากร2536:127-130) ลักษณะของปราสาทมีองค์ประกอบ ดังนี้

1. ปรางก่ออิฐ
5 องค์เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์แถวหลัง 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียว แผนผังของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ
แถวหน้า ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลางเยื้องมาข้างหน้าเล็กน้อยระหว่างปรางค์บริวารทั้งสองมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์บริวารอีก 4องค์ทับหลังเป็นหินทราย จำหลักภาพเทวะนั่งยกเข่าซ้ายอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียติมุขส่วนบนของทับหลังจำหลักภาพฤาษีนั่งประนมมือเป็นแถว จำนวน 7 ตนปรางค์ด้านทิศเหนือ มีขนาด 4.40X4.40 เมตรมีประตูทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระอิศวรทรงโคนนทิพระหัตถ์ซ้ายอุ้มนางปราพตีพระหัตถ์ขวาทรงตรีศูลโคนนทีนี้ยืนอยู่บนแท่นเหนือเศียรเกียรติมุขซึ่งคายท่อนพวงมาลัยขอบบนสุดจำหลักภาพฤาษีนั่งรัดเข่าประนมมือ จำนวน 10 ตน ปรางค์ด้านทิศใต้ มีขนาด 4.40X4.40 เมตรมีประตูทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่าขวาอยู่เหนือเศียรเกียรติมุขซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง ขอบบนของทับหลังจำหลักภาพฤาษีนั่งจำนวน 9 ตน
แถวหลัง ปรางค์ด้านทิศเหนือ มีขนาด 4X4 เมตรประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ปรางค์ด้านทิศใต้ มีขนาด 4X4 เมตรประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกทับหลังหินทรายจำหลักภาพพระอรุณนั่งชันเข่าในซุ้มเหนือแท่นซึ่งมีหงส์ 3 ตัวยืนแบกอยู่เหนือเศียรเกียรติมุขที่กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองด้าน

2. ระเบียงคดและซุ้มประตู
ก่อด้วยอิฐ มีขนาด ประมาณ 38.60X38.60 เมตรมีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายระเบียงคดนี้ลักษณะเป็นห้องแบบระเบียงคดทั่วไปหลังคาเป็นหินทรายทำเป็นรูปประทุนเรือ มีประตู 3 ด้านพื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลักมีขนาดประมาณ 2.10X1.15 เมตรด้านข้างของซุ้มประตูทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่องด้านนอกติดลูกกรงลูกมะหวดที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านนอกจำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่าอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เหนือขึ้นไปเป็นนาค 5 เศียรครอบ 2 ชั้น ทั้ง 2 ข้างทับหลังหินทรายจำหลักภาพเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง เสากรอบประตูกลางจำหลักภาพสิงห์ยืนเท้าสะเอวจับพุ่มกนกและโคนเสาเป็นภาพฤาษีนั่งยองๆ ประนมมือที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านในจำหลักภาพสิงห์ท่ามกลาง ลิง และช้างประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะตอนปราบนาคกาลียะ

3. สระน้ำ
ตั้งอยู่ที่ลานขนาด 10X10 เมตรรอบนอกระเบียบคดทั้ง 4 ด้าน สระน้ำทั้ง 4 สระนี้มีขนาดประมาณ 20X40 เมตรกรุพื้นสระด้วยหินทรายซ้อนเป็นชั้น ๆ ปากผายก้นสอบที่มุมขอบสระทุกมุมทำเป็นตัวพญานาคชูคอ สองข้างบาทวิถีระหว่างซุ้มประตูระเบียงคดกับซุ้มประตูกำแพงทุกด้านมีบันไดลงสู่สระน้ำอยู่ทั้งสองข้างทางเหนือบันไดทำเป็นเสาซุ้มประตูทั้งสองข้างปัจจุบันล้มลงทั้งหมด 4. กำแพงแก้วและซุ้มประตู ตั้งอยู่รอบนอกห่างจากสระน้ำประมาณ 10 เมตรกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 140X114.50 เมตรบนสันกำแพงเซาะเป็นรางตื้น ๆสำหรับวางท่อหินสี่เหลี่ยมสี่ด้านทำเป็นซุ้มประตูจตุรมุข มีประตูด้านละ 3 ช่องมุงหลังคาด้วยหินทรายโค้งเป็นรูปประทุนเรือทับหลังหินทรายเหนือประตูของซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกจำหลักภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลียะที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยแสดงว่ายังตกแต่งลวดลายไม่เสร็จระหว่างประตูทั้ง 3 ช่อง เป็นหน้าต่างหลอกติดลูกกรงลูกมะหวดเลียบกำแพงศิลาแลงมีทางเท้าปูด้วยก้อนศิลาแลง ขนาดกว้าง 1 เมตรรอบทุกด้าน

ทะเลเมืองต่ำ
ทะเลเมืองต่ำหรือสระบารายที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มากเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาทอยู่ห่างจากตัว ปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศเหนือราว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อการอุปโภคการชลประทานของชุมชน มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตรยาวประมาณ 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 3 ชั้น บนขอบสระด้านยาว คือด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตรปูพื้นด้วยศิลาแลงลาดลงไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลงสระรวม 5 ขั้นท่าน้ำทั้ง 2 ฟากนี้อยู่ในแนวตรงกันประมาณกึ่งกลางของขอบสระ (กรมศิลปากร 2540:70) บางรายแห่งนี้น่าจะมีทางรับน้ำด้านทิศตะวันตกจากเขาปลายนัด (ไปรนัด) และเขาพนมรุ้งตรงบริเวณที่เรียกว่า สะพานขอมและระบายน้ำออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ ความโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำนอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สวยงามของโบราณสถานแห่งนี้แล้วยังได้ชมหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายเป็นกลุ่มอยู่กับปราสาทนี้ด้วยชาวบ้านอยู่ที่นี่มานานจนมีความรู้สึกว่าปราสาทคือส่วนหนึ่งของชุมชนการดำเนินชีวิตของชาวบ้านโคกเมืองสัมพันธ์กับความงามของปราสาทกลายเป็นความสงบร่มเย็นน่าสนใจไม่น้อย

การเดินทางไปปราสาทเมืองต่ำ
ไปได้หลายทางส่วนใหญ่ใช้เส้นทางบุรีรัมย์-นางรอง-พนมรุ้งเข้าไปปราสาทเมืองต่ำระยะทางแยกเข้าไปประมาณ 83 กิโลเมตรหรือจะไปเส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย เข้าประสาทเมืองต่ำ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตรอีกเส้นทางหนึ่งคือ สายประโคนชัย-บ้านกรวดซึ่งเป็นเส้นแยกสายตะโก-พนมรุ้ง-ละหานทรายก็ได้

แหล่งที่มา :